ธนาคารอสุจิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธนาคารอสุจิ เป็นการให้บริการเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิ เพื่อการใช้ต่อไปในอนาคต เช่น การผสมเทียม ความผิดปกติทางด้านร่างกาย หรือเพื่อใช้เป็นตัวอย่างงานวิจัย เป็นต้น ธนาคารอสุจิแห่งแรกของโลกเปิดที่เมือง ไอโอวาซิตีในรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา และ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

รูปแบบการเก็บรักษา[แก้]

การเก็บรักษานั้นเป็นรู้จักทั่วโลก คือการแช่ตัวอย่างลงในไนโตเจนเหลว โดยก่อนจะแช่ลงไปนั้น ตัวอย่างจะถูกจัดเก็บไว้ในแท่งเก็บตัวอย่างที่ทำจากพลาสติกทนต่อแรงกดดันสูงและรับความเย็นได้เร็ว โดยเก็บรักษาเชื้ออสุจิไว้ที่อุณหภูมิ ลบ 196 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาได้นานหลายสิบปี เพื่อเก็บรักษาเชื้ออสุจิจากผู้บริจาค

เกณฑ์ในการพิจารณาผู้บริจาค[แก้]

  • โดยมากมักจะขอจากนักศึกษาในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมักมีสติปัญญาดี
    • ผู้ให้บริจาคต้องทำการตรวจเลือดและโรคภัยที่มีก่อนเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
      • อายุของผู้บริจาคไม่ควรเกิน 40 ปี
      • ไม่มีโรคทางพันธุกรรม เช่น โลหิตจาง หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ หนองใน ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี
      • ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพแข็งแรง น้ำเชื้อมีคุณภาพดี (ต้องผ่านการตรวจน้ำเชื้อก่อน หรือน้ำเชื้อที่ได้มาจะถูกนำไปตรวจ)
      • ต้องมีการให้ข้อมูลไว้เพื่อการพิจารณา โดยให้ข้อมูลดังนี้ รูปร่าง ส่วนสูง สีผิว สีผม เชื้อชาติ และหมู่เลือด

ขั้นตอนการเก็บรักษา[แก้]

  • ให้ผู้บริจาคเก็บน้ำอสุจิด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ในห้องที่จัดไว้ให้ แล้วนำมาใส่ในขวดปากกว้างที่ปราศจากเชื้อ ก่อนนำไปส่งให้กับห้องแล็บเพื่อนำไปเก็บแช่เแข็ง
  • ห้องจัดเก็บจะนำน้ำอสุจิไปวิเคราะห์ (semen analysis) เพื่อให้ผลว่าอสุจิมีความสามารถในการผสมกับไข่ได้หรือไม่ดังนี้
    • จำนวนตัวอสุจิไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตัวต่อซีซี
    • อัตราการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิมากกว่าร้อยละ 60
    • รูปร่างของอสุจิปกติที่แข็งแรงมากกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากในการผสม จะมีบางส่วนตายไปประมาณร้อยละ 30-40
  • หลังจากนั้น อสุจิจะต้องใส่สารละลาย กลีเซอรอล, โซเดียมซิเตรท, กลูโคส, ฟรุกโตส, ไข่แดง ให้เป็นอาหารสำหรับอสุจิ ผสมกับน้ำอสุจิ แล้วนำใส่หลอดพลาสติกเล็กๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บต่อไป
  • นำไปแขวนในระดับ 15 เซนติเมตรเหนือระดับไนโตรเจนเหลวซึ่งมีอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส โดยจะไม่แช่ลงโดยตรงในไนโตรเจนเหลว เพราะจะทำให้อสุจิเกิดความเสียหายทางเซลล์ในการแช่ด้วยความเย็นมากเกินไป

จุดประสงค์ที่แท้จริง[แก้]

  • สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บน้ำอสุจิไว้ ก่อนการรับการรักษาต่างๆ ที่มีโอกาสทำให้เกิดเป็นหมันได้
  • สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากสามีต้องเดินทางบ่อยๆ ทำให้มีโอกาสท่ออสุจิตีบ ในรายที่ในอัณฑะมีตัวอสุจิแต่ไม่สามารถออกมาในน้ำอสุจิได้
  • แช่แข็งอสุจิจากผู้บริจาค เพื่อใช้สำหรับผู้ที่ต้องการรับอสุจิของผู้บริจาค ในกรณีที่ฝ่ายสามีไม่สามารถผลิตน้ำอสุจิได้ เนื่องจากมีโรคบางอย่างที่มีผลต่อการผลิตตัวอสุจิ

การนำน้ำเชื้ออสุจิกลับมาใช้[แก้]

อสุจิที่ถูกแช่แข็งจะหยุดการเคลื่อนไหว ฉะนั้นก่อนจะนำเชื้ออสุจิมาใช้จึงต้องนำหลอดบรรจุเชื้อไปละลาย และเข้าเครื่องปั่นล้าง แล้วจึงนำเชื้ออสุจิไปใช้ต่อไป ถือว่าเป็นกระบวนการสุดท้ายของธนาคารอสุจิ และต้องทำในห้องที่ปลอดเชื้อเท่านั้น

อ้างอิง[แก้]

  • บทความของ รศ.นพ. สมบูรณ์ คุณาธิคม..ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ศิริราชพยาบาล ตีพิมพ์ในวารสารคลินิกประจำเดือนเมษายน 2545
  • รายการกบนอกกะลา ตอน จุดกำเนิดชีวิต ช่วง วิธีการเก็บตัวอย่าง