ปลาโลมา

          ปลาโลมา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ   มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับ ปลาวาฬ  แต่ตัวเล็กกว่าปลาวาฬ   ส่วนใหญ่พบในทะเลและมหาสมุทร  ที่พบในแม่น้ำก็มี เช่น ในแม่น้ำคงคาที่ประเทศอินเดีย และในแม่น้ำโขงบริเวณประเทศไทยและประเทศลาว.  ปลาโลมาส่วนใหญ่มีสีผิวเป็นสีเทา ซึ่งบางทีเข้มมากจนเกือบดำ และบางทีก็อ่อนลงจนเกือบขาว.   ปลาโลมาส่วนใหญ่มีสีผิวสองสี คือด้านหลังเป็นสีเทาเข้ม ด้านท้องเป็นสีเกือบขาว  การมีสีผิวสองสี ช่วยในการพรางตัวในทะเลไม่ให้ศัตรูเห็น  คือเมื่อมองจากด้านบน สีเข้มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไป สีขาวก็จะกลืนกับแสงแดดเหนือผิวน้ำ   เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปลาโลมาเป็นสัตว์ที่ฉลาด  ทั้งนี้เพราะสมองของปลาโลมามีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับลำตัว อีกทั้งภายในสมองยังซับซ้อนอีกด้วย. 

          คำว่า โลมา น่าจะมาจากภาษามาเลย์ว่า ลุมบา (lumba)  ในภาษามาเลย์  อินโดนีเซีย และชวา เรียก ปลาโลมา อย่างเดียวกัน ว่า ikan lumba-lumba (อ่านว่า อิกัน ลุมบา-ลุมบา) ikan แปลว่า ปลา.  การเรียกสัตว์ประเภทนี้ว่า ปลา  สะท้อนว่าชาวบ้านทั่วไปที่พูดภาษาไทย มาเลย์  อินโดนีเซีย และชวา เห็นว่า โลมา เป็นปลาชนิดหนึ่ง

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.