มิสยูนิเวิร์ส 2018: “อังเฆลา ปอนเซ” สตรีข้ามเพศผู้ชูคบเพลิงแห่งความเท่าเทียมในเวทีนางงามจักรวาล

Miss Universe

ที่มาของภาพ, Miss Universe

คำบรรยายภาพ, อังเฆลา ปอนเซ (Angela Ponce) มิสยูนิเวิร์สสเปน
  • Author, ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

"อังเฆลา ปอนเซ" เป็นสตรีข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ 67 ปีของการประกวดนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe ซึ่งปีนี้มีสาวงามจาก 94 ประเทศ มาประกวดที่ประเทศไทย

ตัวแทนสาวงามจากสเปนผู้นี้เข้าประกวด เพราะอยากจะส่งสารออกไปว่า การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเคารพซึ่งกันและกันนั้นเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคารพในเสรีภาพแห่งการเลือกเพศสภาวะ

"การประกวดนางงามจักรวาล เป็นพื้นที่สำคัญ เพราะมีฐานผู้ชมอยู่ทุกมุมโลก แต่ส่วนตัวดิฉัน สิ่งนี้ไม่ว่าจะทำที่ใด บนถนน ที่โรงเรียน หรือในบ้านด้วยการสอนให้ลูกหลานของคุณ นับเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ทั้งสิ้น" อังเฆลา ปอนเซ มิสยูนิเวิร์สสเปน ตอบคำถามที่บีบีซีไทยส่งไป ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และมุ่งมั่น

การประกวดนางงามจักรวาล ปี 2018 จัดขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เหล่าสาวงามได้เข้าเก็บตัว ทำกิจกรรมหลากหลาย อุ่นเครื่องก่อนประกวดเวทีใหญ่ วันที่ 17 ธ.ค. ที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี

อังเฆลา ถ่ายรูปคู่กับ โศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทย ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว

ที่มาของภาพ, Miss Universe

คำบรรยายภาพ, อังเฆลา ถ่ายรูปคู่กับ โศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทย ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว

อังเฆลา มีจุดยืนชัดเจน เธอไม่ปิดซ่อนความเป็นสตรีข้ามเพศ เพราะมุ่งหมายจะเป็นแม่แบบแห่งความภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศ

"เพื่อให้คนข้ามเพศ และกลุ่ม LGBTQI รุ่นต่อไป มีชีวิตที่ดีกว่าในทุกวันนี้"

นางงามนักสู้เพื่อเพศสภาพ

29 มิ.ย. 2018 ชื่อ "อังเฆลา ปอนเซ" กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงนางงาม เมื่อเธอชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์สแดนกระทิง สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นสตรีข้ามเพศคนแรกที่ชนะตำแหน่งนี้

อังเฆลา อายุ 27 ปี เกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเซบียา เขตรอยต่อกับเมืองอวยบา ทางตอนใต้ของสเปน เธอรู้ตนเองว่าเป็นคนข้ามเพศตั้งแต่เด็ก แต่พ่อแม่ให้การยอมรับ ผู้คนในชุมชนสนับสนุน เวลามีเทศกาล มักได้รับเลือกให้แสดง และเดินแบบชุดพื้นเมืองบ่อย ๆ

อังเฆลา ปอนเซ และนางงามคนอื่น ๆ เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, อังเฆลา ปอนเซ และนางงามประเทศอื่น ๆ เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

เธอให้สัมภาษณ์ในรายการ "ดอน ฟรานซิสโก เต อินบิตา" รายการภาษาสเปนชื่อดังในสหรัฐฯ ว่า คนรอบข้างปฎิบัติกับเธอไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่ง และด้วยเสียงสนับสนุน จึงกล้าออกจากชุมชน มาสู่พื้นที่สาธารณะ เริ่มจากการเป็นนางแบบ ปูทางสู่อุตสาหกรรมนางงาม

สาวผมสีเดอร์ตีบลอนด์ (บลอนด์เข้ม) ตาสีฟ้าอ่อน ที่มีรอยยิ้มสดใสคนนี้ คุ้นเคยกับเวทีประกวดเป็นอย่างดี เธอชนะการประกวดมิส เวิลด์ คาดิซ ปี 2015 (Miss World Cadiz) และเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดมิสเวิลด์สเปนในปีนั้น แม้ไม่ได้ตำแหน่ง แต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่การประกวดครั้งนั้น

"ฉันเพิ่งทราบในวันประกวดว่า มีกฎห้ามสตรีข้ามเพศชนะ จิตใจฉันแทบแหลกสลาย แต่ฉันเดินหน้าประกวดต่อไป มันรู้สึกแย่มาก แต่เมื่อฉันผ่านเข้ารอบสุดท้าย มิสเวิลด์ก็เปลี่ยนกฎ ฉันนี่แหละที่เปลี่ยนมัน" อังเฆลาให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ก่อนเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเก็บตัวร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์ส

ไฟสีรุ้งแห่งความหวัง

ในสายตาของ ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการอิสระด้านสตรี เพศสภาวะ และเพศศึกษา มิสยูนิเวิร์สสเปนคนนี้ เป็นมากกว่าตัวแทนประเทศ แต่คือตัวแทนของสตรีข้ามเพศทั่วโลก

ฐิติพงษ์ ด้วงคง ยังเป็นนักวิชาการด้านนางงามอีกด้วย

ที่มาของภาพ, Tong Aroyosmith

คำบรรยายภาพ, ฐิติพงษ์ ด้วงคง ยังเป็นนักวิชาการด้านนางงามอีกด้วย

"ภาพปรากฎของอังเฆลา ปอนเซ ทำให้โลกรู้ว่า สตรีข้ามเพศเป็นตัวแทนประเทศแล้ว" และ "ต่อไปโอลิมปิกอาจไม่แบ่งแยกเพศอีกต่อไป ขอบเขตของเพศชายหญิง จะค่อย ๆ ลดลง คนข้ามเพศจะไม่ถูกจำกัดแต่ในพื้นที่ที่สังคมวางให้อยู่ แต่จะเป็น inclusive society หรือสังคมเพื่อคนทั้งมวล"

วันประกวดชุดประจำชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนนงนุช พัทยา ภายใต้ความงามของเครื่องแต่งกาย และท่วงท่าของเหล่าสาวงาม คือ นัยยะแฝงที่สะท้อนจุดยืนแห่งความเท่าเทียมทางเพศได้เป็นอย่างดี

อังเฆลาแต่งกายในชุดฟลาเมงโกสีขาว ประดับด้วยดอกคาเนชันสีแดง ถือพัดร่ายรำ "ฟลาเมงโก" ซึ่งฐิติพงษ์ระบุว่า "ชุดนี้สะท้อนถึงความงามของอิสตรีในสเปน แต่กลับเป็นสตรีข้ามเพศที่ใส่ชุดนี้บนเวทีประกวดระดับนานาชาติ"

มิสยูนิเวิร์สสเปน ในชุดฟลาเมงโก บนเวทีประกวดชุดประจำชาติ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, มิสยูนิเวิร์สสเปน ในชุดฟลาเมงโก บนเวทีประกวดชุดประจำชาติ

"ถ้าเป็นสาวข้ามเพศไทย แต่งกายในชุดระบำตามประเพณีหญิงไทย คิดดูว่าจะเกิดกระแสอะไรขึ้น" นักวิชาการด้านเพศสภาวะตั้งคำถาม

ฐิติพงษ์ ที่จะทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้บรรยายภาษาไทยในวันประกวด มองว่า อังเฆลา ปอนเซ จะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก หากผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้าย เพราะจะได้แสดง "เสียง" ตนเองผ่านสุนทรพจน์ 15 วินาที แต่ถ้าผ่านถึงรอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งจุดเด่นคือการ ถาม-ตอบ เขาเชื่อมั่นว่า อังเฆลา ต้องได้คำถามนี้

คุณคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน แล้วคุณจะสร้างอิทธิพล ส่งเสริมให้คนทั้งโลกให้ความสำคัญกับคนข้ามเพศอย่างคุณได้อย่างไร

ไทยตีกรอบคนข้ามเพศมากเกินไป

การลงประชามติไม่รับรองการแต่งงานเพศเดียวกันของไต้หวัน และร่างกฎหมายคู่ชีวิตของไทยที่ให้สิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เท่าเทียม "คู่สมรส" ยิ่งทำให้โลกจับตาผลงานของอังเฆลา

สุดท้าย ไต้หวัน 'ไม่ได้' เป็นชาติแรกในเอเชียที่รองรับการแต่งงานเพศเดียวกัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สุดท้าย ไต้หวัน 'ไม่ได้' เป็นชาติแรกในเอเชียที่รองรับการแต่งงานเพศเดียวกัน

เคท ครั้งพิบูลย์ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ทางโทรศัพท์ว่า นางงามข้ามเพศจากสเปน กลายเป็นมากกว่าแค่ตัวแทนประเทศ แต่เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วย

"สเปนส่งอังเฆลามาเป็นตัวแทน ทำให้คนมองเห็นภาพลักษณ์ใหม่ของคนข้ามเพศ เพราะผู้คนยึดติดกับภาพลักษณ์ซ้ำ ๆ แต่เราเป็นได้มากกว่าแค่การเป็นกะเทยนะ"

อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างรัฐบาลสเปน ที่ถกเถียงเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศสภาพอย่างจริงจัง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีตัวแทนในสภา มีส่วนร่วมร่างกฎหมาย เมื่อเทียบกันแล้ว รัฐบาลไทยยังตามหลังอยู่มาก ยกตัวอย่าง หนังสือเดินทางที่เคทยังต้องใช้คำนำหน้าว่า "นาย" แม้จะขัดกับอัตลักษณ์ทางเพศที่เธอเลือก

อาจารย์เคท ต้องใช้คำนำหน้า "นาย" ในเอกสารเดินทาง

ที่มาของภาพ, kath khangpiboon

คำบรรยายภาพ, อาจารย์เคท ต้องใช้คำนำหน้า "นาย" ในเอกสารเดินทาง

เคท เปิดเผยว่า เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ซึ่งขับเคลื่อนสิทธิคนข้ามเพศในประเทศไทย มีกำหนดที่จะทำกิจกรรมร่วมกับอังเฆลา ปอนเช ภายหลังเสร็จสิ้นการประกวด อาทิ พบปะกับชุมชนสตรีข้ามเพศในไทย รวมถึงขึ้นกล่าวสุนทรพจน์

"เราอยากให้พูดถึงการรับรองเพศในสเปน เพราะเป็นโมเดลที่น่าสนใจ อยากฟังว่า เมื่อเปลี่ยนคำนำหน้านามได้แล้ว ตามมาด้วยสิทธิอะไร"

อังเฆลาเอง ต้องการทำงานร่วมกับกลุ่ม LGBTQI ในไทย ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านประสบการณ์ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมาโชกโชน

กิจกรรมเพื่อสังคม ที่เหล่าสาวงามจากทั่วโลกเข้าร่วมในไทย ก่อนการประกวด

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, กิจกรรมเพื่อสังคม ที่เหล่าสาวงามจากทั่วโลกเข้าร่วมในไทย ก่อนการประกวด

"ดิฉันทำแน่นอน นี่คือความภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้ทำงานช่วยเหลือสิทธิของผู้หญิงข้ามเพศ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้เข้าถึงอัตลักษณ์ที่พวกเขาอยากจะเป็น ไม่ว่าที่สเปน ที่ไทย หรือที่ใดก็ตามบนโลก"

สตรีข้ามเพศไทย ไปไม่ถึงจักรวาล

ประเทศไทยถูกมองว่า เป็นศูนย์กลางชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เอง กำลังรณรงค์ให้ชาวสีรุ้ง มาเที่ยวไทยมากขึ้น

แต่สาวข้ามเพศสยาม ที่นานาชาติชื่นชมถึงความงาม ไม่แพ้ผู้หญิงจริง ๆ กลับยืนได้แค่เวทีประกวดเฉพาะทางในประเทศ เช่น มิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณี ยลดา โคมกลอง (นก) หญิงข้ามเพศ ที่แฝงตัวประกวดหลายเวที ถึงกับเป็นตัวแทนไทยไปประกวดมิสทัวริซึม อินเทอร์เนชันแนล (Miss Tourism International) เมื่อปี 2001 ก่อนจะถูกเปิดโปง จนต้องสละตำแหน่งที่ได้มา

การประกวดมิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส ในไทย ปี 2015

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, "มิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส" ในไทย คือสุดทางที่สตรีข้ามเพศไทยจะไปได้

แม้มิสยูนิเวิร์สจะเปิดรับสตรีข้ามเพศ ตั้งแต่ปี 2012 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละประเทศด้วยว่า จะอนุญาตให้เข้าประกวดได้หรือไม่ สำหรับไทยนั้น ฐิติพงษ์ ชี้ว่า "ยังไม่ได้" เพราะติดเรื่องคำนำหน้าชื่อ ที่กฎหมายไทยยังไม่ไฟเขียวการเปลี่ยน นาย เป็น นางสาว

"เรื่องของเวิร์ดดิงล้วน ๆ และก็มีวาทกรรมเกี่ยวกับการเป็นสาวข้ามเพศ คุณเป็น 'มิสไทยแลนด์' แต่เดินทางไปต่างประเทศยังเป็น มิสเตอร์ อยู่เลย" แต่ "อังเฆลา เดินทางเข้าไทยด้วยคำนำหน้า นางสาว นะ"

ผลงานในเวทีนางงามจักรวาลของ "น.ส. อังเฆลา" จึงเป็นที่จับตามาก ยิ่งผ่านเข้ารอบ ยิ่งใกล้มงกุฎ ก็เท่ากับชัยชนะของชุมชนสตรีข้ามเพศใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ สำหรับฐิติพงษ์ และเคท คิดว่า แม้ไม่ถึงขั้นแก้กฎหมายในไทย แต่ก็เพียงพอเป็นแรงบันดาลใจ ให้เดินหน้าต่อสู้ต่อไป

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างส่งแรงใจให้ อังเฆลา ปอนเซ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างส่งแรงใจให้ อังเฆลา ปอนเซ

*ขอขอบคุณ ฐิติพงษ์ ด้วงคง ล่ามและผู้แปลภาษาสเปน บทสัมภาษณ์ อังเฆลา ปอนเซ