สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ว่า ยูนิเซฟ ระบุว่า เอเชียใต้มีเจ้าสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ราว 290 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนเจ้าสาววัยเด็กทั่วโลก ซึ่งทางหน่วยงานเรียกร้องให้มีความพยายามมากขึ้น เพื่อยุติแนวทางปฏิบัติเช่นนี้

“ข้อเท็จจริงที่ว่า เอเชียใต้มีภาระการสมรสของเด็กสูงที่สุดในโลกนั้น เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง” นางโนอาลา สกินเนอร์ ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวในแถลงการณ์ “การแต่งงานในวัยเด็กทำให้เด็กผู้หญิงขาดการเรียนรู้, ทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเธอมีความเสี่ยง และทำให้อนาคตของพวกเธอตกอยู่ในอันตราย”

งานศึกษาชิ้นใหม่ของยูนิเซฟ ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์และการปรึกษาหารือในสถานที่ 16 แห่ง ในบังกลาเทศ, อินเดีย และเนปาล พบว่า ผู้ปกครองหลายคนมองว่า การแต่งงานเป็นตัวเลือกดีที่สุด สำหรับบุตรสาวที่มีทางเลือกจำกัด ในการศึกษาช่วงการล็อกดาวน์ อีกทั้งหลายครอบครัวยังประสบกับความเครียดทางการเงิน ในช่วงการระบาดใหญ่ จนทำให้พวกเขาจัดพิธีสมรสกับบุตรสาวอายุน้อยของพวกเขา เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่บ้าน

ทั้งนี้ ยูนิเซฟ กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ ตามที่ระบุในการหารือ ได้แก่ การออกมาตรการคุ้มครองทางสังคม เพื่อจัดการกับความยากจน, การคุ้มครองสิทธิการศึกษาของเด็กทุกคน, การรับประกันกรอบการทำงานที่เพียงพอ ในการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความพยายามมากขึ้น เพื่อจัดการกับบรรทัดฐานทางสังคม

“เราต้องดำเนินการมากกว่านี้ และเสริมสร้างความร่วมมือในการมอบอำนาจ แก่เด็กผู้หญิงผ่านการศึกษา ซึ่งรวมถึงเพศวิถีศึกษาที่ครอบคลุม และเสริมทักษะให้กับพวกเธอ ตลอดจนสนับสนุนชุมชนให้ช่วยกันยุติแนวปฏิบัติที่ฝังรากลึกนี้” นายบยอร์น แอนเดอร์สสัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ) กล่าว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES