ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ : 4 เดือนหลังเปิดรับนักท่องเที่ยว แสงเริ่มสว่างที่ปลายทางอุโมงค์

Phuket

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, ณัฏฐา เทพบำรุง
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษ

พระอาทิตย์ที่เส้นขอบฟ้ากลางทะเลหาดป่าตองใกล้ตกลง แสงสีของยามราตรีตามท้องถนนเริ่มสว่างขึ้นพร้อมบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่ส่วนมากเป็นชาวตะวันตกเริ่มเดินไปมาระหว่างร้านรวงและบาร์ต่าง ๆ ภาพเช่นนี้เคยเป็นภาพชินตา แต่กลับร้างราไปนานนับปีจากพิษโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำร้ายเศรษฐกิจไปทั่วโลก

วันนี้ป่าตองและถนนบางลา แหล่งท่องเที่ยวติดทะเลชื่อดังของเมืองภูเก็ต เริ่มกลับมาหายใจอีกครั้งจากการมาถึงของนักท่องเที่ยวกว่า 53,000 คน ตลอดช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาในโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เป็นโมเดลต้นแบบของไทยเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างมีมาตรการป้องกันโควิด-19

การเริ่มต้นครั้งใหม่

กลุ่มหมอนวดชายหาดป่าตองที่จับกลุ่มกันนั่งรอลูกค้า วันนี้ดูเหมือนพอได้รายได้ ลูกค้าชาวตะวันตกและเอเชียหลายคนเข้ารับบริการอยู่บนแคร่ที่ตั้งอยู่ริมทะเล

"ป้าติ๋ม" หรือ เถาวัลย์ แสงศาลา ในวัย 62 ปี เป็นหนึ่งในหมอนวดกลุ่มนี้ที่ได้รับการจัดการดูแลจากเทศบาลเมืองป่าตอง เธอเล่าว่าทำงานนวดริมชายหาดป่าตองมาแล้วกว่า 34 ปี ก่อนหน้าสถานการณ์การระบาดและการปิดเมืองรายได้ค่อนข้างดี และในวันนี้เธอก็เชื่อว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น เพราะอัตราการวัคซีนที่ครอบคลุมเกิน 70% ในจังหวัด ที่เป็นมาตรการหนึ่งในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

"แขกก็เริ่มมาเยอะแล้วนะ คิดว่าจะกลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง จากที่ว่าปีใหม่เราไม่ได้ฉลองกัน ปีนี้ก็น่าจะเต็มที่เพราะคนภูเก็ตฉีดวัคซีนกันเยอะแล้ว ป้าเองก็ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มแล้ว"

"อย่างเพื่อน ๆ หมอนวดก็ฉีดกันไป 3 เข็มแล้ว ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าฯ 1 เข็ม ตอนนี้ลูกค้าก็เริ่มมีเข้ามาแล้วนะ ไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็โอเค ดีกว่าเมื่อก่อนมาก จากที่ศูนย์เลย ก็ยังไม่ถึง 50% คิดว่าประมาณ 30% แล้วก็มีความหวังว่าวันที่ 1 พฤศจิกา เขาเปิดประเทศ ไม่ต้องกักตัว แขกคงมาเยอะ"

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, Thiti Foster

คำบรรยายภาพ, ป้าติ๋ม หมอนวดริมชายหาดป่าตอง เล่าว่าแขกเริ่มมาเยอะขึ้น และคาดหวังว่าหลังวันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไปจะมีแขกมาเพิ่มอีกหลังเปิดประเทศ

เธอเล่าว่าก่อน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์รายได้ของเธอและลูกสาวที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันเป็นศูนย์เพราะทั้งคู่ตกงาน แต่ตอนนี้ ทั้งคู่ได้งานทำ และมีพอกินพอใช้

"หมอนวดก็จับแขกได้วันละ 2-3 คน ใครจับแขกได้คนนั้นก็ได้ แล้วแต่ความพึงพอใจของแขก ป้ามาทุกวัน ได้มากสุดก็วันละพันกว่าบาทสองพัน บางวันก็ 300 - 500 บาท ทุกวันนี้ก็พอได้กินได้ใช้ แต่ไม่ได้มาก จากเมื่อก่อนรายได้เป็นศูนย์ ทุกวันนี้ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ยังพออยู่ได้ ไม่ถึงกับได้เก็บ แต่ก็พอได้กินได้ใช้ ไม่ลำบากมากเหมือนเมื่อก่อน นายก(เทศมนตรี) เขาก็ดี แจกข้าวแจกน้ำ วันนี้ก็ไปลงทะเบียนมาที่เทศบาล แจกข้าว 10 กิโล ปลากระป๋อง มาม่า เป็นโหล ก็กินได้เป็นเดือนสองเดือน"

"เทียบกับช่วงแรกๆ ของ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ช่วงนี้ก็ดีกว่า แขกเริ่มมาแล้ว แนวโน้มก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ"

เดินจากป้าติ๋มมาตามทาง ฟ้าก็เริ่มมืดลง ข้างทางพบบาร์ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ภายในมีพนักงานสาวคอยให้บริการและพูดคุยกับลูกค้าท่ามกลางเสียงดนตรีและเสียงลูกบิลเลียดกระทบกันเป็นระยะ

"แม่พร" หรือ ประสพพร วิภาณุรัตน์ เจ้าของร้าน The Blue Coral Bar ซึ่งคึกคักด้วยลูกค้าที่กำลังดื่มด่ำกับบรรยากาศ เล่าว่าเธอทำธุรกิจอยู่ที่นี่มานานนับ 20 ปีแล้ว และรู้สึกดีใจมากที่ร้านต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง

"เราก็เพิ่งจะเปิดเมื่อ 1 ตุลานี้ ถึงจะปิดสี่ทุ่ม แต่เราก็เคารพกฎกติกา แล้วอย่างน้อย ๆ ก็ได้หายใจหลังจากปิดมานาน ก็อยากจะขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้มีวันนี้ คือเราได้หายใจแล้วก็ได้เดินต่อ"

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, Thiti Foster

คำบรรยายภาพ, แม่พร รู้สึกดีใจมากที่ร้านต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง

"ตอนนี้ก็มีพนักงานอยู่ 6-7 คน จริงๆ แขกแค่นี้ ใช้แค่ 2-3 คนก็พอแล้ว เพราะเปิดแค่กะเดียว เดี๋ยวสี่ทุ่มก็ปิดแล้ว แต่ว่าก็ช่วย ๆ กันให้เขาได้มีงานทำด้วยเพราะก็เข้าใจว่าทุกคนลำบาก"

เธอบอกว่ารายได้ดีขึ้นกว่าก่อนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แม้จะไม่มากมายเช่นก่อนการระบาด แต่ตอนนี้ก็ดีแล้ว

"ร้านก็โอเค มีลูกค้าเยอะเป็นบางวันเพราะ ร้านก็เริ่มทยอยเปิดเยอะขึ้น ก็แชร์ลูกค้ากันไป เราก็แฮปปี้ว่าทุกฝ่ายต่างได้บ้างไม่มากก็น้อยแต่ก็ยังโอเค ถ้าเทียบกับปกติตอนนี้ก็กลับมา 30% - 40% แต่ก็ยังไม่ถึง 50% แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย รายได้ต่อวันก็ประมาณหลักพัน ก็พอเดินต่อได้"

"แต่ก่อน ไปหน้าหาดตอนปิดเมือง ไปเดินออกกำลังกาย น้ำตาไหล เพราะเราอยู่ที่นี่มานาน เราเห็นสนิม เห็นบรรยากาศตรงสถานที่ที่เคยรุ่งเรือง การที่มีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดีมากสำหรับทุกฝ่าย เราก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด เคารพกฎกติกาเพื่อจะได้เดินต่อไปกันได้"

ตลาดนัดในย่านเมืองภูเก็ต

ในย่านตัวเมืองภูเก็ต มีตลาดนัดหลายแห่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเดิน หลาดปล่อยของ คือหนึ่งในตลาดชื่อดังที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ไม่ห่างจากโรงเรียนประจำจังหวัด 2 โรงเรียน และหลังจากที่ตลาดเงียบเหงาไปนาน ก็เหมือนว่านักท่องเที่ยว แซนด์บ็อกซ์ที่นิยมท่องเที่ยวในตัวเมืองภูเก็ตจะเข้ามาเติมสีสันให้ตลาดแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

"ผมฟันธงเลยว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตดีขึ้นจริงๆ คือจะบอกว่าดีขึ้น 100% ไม่ได้ แต่ถามว่าดีขึ้นหรือไม่ คือดีขึ้น ถามว่าดีขึ้นจากอะไรก็คือ ดีขึ้นจากเดิมที่เราเป็นศูนย์ จากเดิมที่เรายังไม่มี ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เนี่ย นักท่องเที่ยวต่างชาติเราเป็นศูนย์ นักท่องเที่ยวไทยเข้ามาได้บ้างบางช่วง แต่ขั้นตอนในการเข้ายุ่งยากมาก mood ของการจะเข้ามาเที่ยวมันเลยไม่มี นักท่องเที่ยวไทยเข้ามายาก แล้วตัวกิจกรรมตอนนั้นหลายกิจกรรมก็ไม่เปิด ตอนนั้นเลยบอกได้ว่านักท่องเที่ยวเป็นศูนย์จริง คนไทยไม่มา นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไม่ได้" ณรงค์ พรหมจิต เจ้าของหลาดปล่อยของกล่าวขณะนั่งลงหลังเดินจับจ่ายซื้ออาหารภายในตลาด

เขาเล่าว่าตลาดได้รับผลกระทบอย่างมากก่อนที่โครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเกิดขึ้น เพราะกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของตลาดคือเด็กนักเรียนเนื่องจากอยู่ใกล้โรงเรียน กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 โรงเรียนก็ปิด ส่วนคนทำงานครึ่งหนึ่งทำงานจากที่บ้าน อีกครึ่งหนึ่งกำลังในการจับจ่ายก็ลดน้อยลง ส่วนนักท่องเที่ยวนั้นก็ไม่สามารถเข้ามาได้

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, THITI FOSTER

คำบรรยายภาพ, ณรงค์ยืนยันว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตดีขึ้นจริงๆ

เขาเล่าว่าหลังโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 1 ก.ค. เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เขารู้สึกตื่นเต้นและคาดไม่ถึง โดยโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับตลาดกลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยว แซนด์บ็อกซ์เลือกเข้าพักและกักตัวจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้ตลาดมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอยู่ไม่ขาดตา

ตลอด 4 เดือนของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มา เจ้าของตลาดมองว่าแนวโน้มรายได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่รัฐอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ หลังภาคเอกชนรวมตัวพูดคุยกับภาครัฐ ว่า3 เดือนของโครงการ มีนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ที่ติดเชื้อน้อยมากจึงอยากให้มีการคลี่คลายมาตรการดังกล่าว

"เอาง่ายๆ ที่ตลาด ถ้ามองจากยอดขาย ยกตัวอย่างร้านที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ตลาด จากเดิมที่ขายได้แค่น้ำและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พอตอนนี้จำหน่ายได้ รายได้ก็เพิ่มขึ้นมา 4 เท่า"

ณรงค์มองว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นอีก หลัง 1 พ.ย. เมื่อประเทศไทยจะมีการคลี่คลายมาตรการการเข้าประเทศและเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศ โรงเรียนเปิด คนทำงานได้รายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น มีกำลังใช้จ่าย มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และนักเรียนจาก 2 โรงเรียนใกล้ตลาด ตลาดก็น่าจะคึกคักมากขึ้นตามไปด้วย

ท่องไปในแซนด์บ็อกซ์

เวลาเย็นย่ำของหลาดปล่อยของ แสงไฟประดับสว่างทั่วบริเวณ พ่อค้าแม่ขายประจำการตามร้านรวงเต็มทั่วบริเวณขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งมาเดินเลือกหาอาหารหลังเลิกงาน บริเวณกลางตลาดที่มีการจัดเต็นท์ผ้าใบพร้อมโต๊ะเก้าอี้ มีทั้งคนไทยในพื้นที่ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศนั่งดื่มกินเป็นกลุ่มๆ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเพื่อน 4 คนที่มาจากคนละมุมโลกและมาพบกันที่โรงแรม Book a Bed ภายในตลาด วินเซนต์ โอดคา 27 ปี จากเยอรมนี เป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม เขาเพิ่งจบการศึกษาและอยู่ในช่วงเที่ยวพักผ่อน

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, Thiti Foster

คำบรรยายภาพ, วินเซนต์เล่าว่าเขาประทับใจทั้งเมืองและผู้คนภูเก็ตที่คอยให้การช่วยเหลือ

"ผมมองหาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยค้นดูว่ามีประเทศไหนที่เปิดบ้าง แล้วก็พบประเทศไทย อีกอย่างผมก็สนใจประเทศไทยอยู่แล้วเป็นทุนเดิมด้วย เลยตัดสินใจที่จะค้นหาข้อมูลว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง ภูเก็ตนี่เป็นที่แรกในเอเชียที่ผมมาเลยตั้งแต่มีโควิด-19"

ในเรื่องของการเตรียมเอกสารเพื่อจะเดินทางเข้าประเทศไทยในโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้น เขายอมรับว่าใช้เอกสารค่อนข้างเยอะทำให้ต้องติดต่อไปสถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลินหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ และกล่าวว่าเมื่อมองว่าคนภูเก็ตได้ใช้ความพยายามที่จะสร้างโครงการนี้ขนาดไหนก็ถือว่าเหมาะสมแล้วกับเอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ

"เอกสารที่ว่าเยอะนี้จริงๆ แล้วก็ช่วยผมได้มาก โดยเฉพาะตอนที่ต้องยื่น CoE เพราะผมเตรียมมาครบหมดแล้ว แล้วก็มีการระบุไว้ชัดเจนว่าผมต้องเตรียมอะไรบ้าง"

วินเซนต์เล่าถึงประสบการณ์การเที่ยวภูเก็ตว่าเขาประทับใจทั้งเมืองและผู้คนที่คอยให้การช่วยเหลือตลอด

"ผมมาถึงเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นวันแรกที่ผมออกจาก แซนด์บ็อกซ์ ตอนมาแรก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปที่นู่น ที่นี่ยังไงดี แต่ล่าสุดพวกเราก็เช่ามอเตอร์ไซค์มาขี่ไปทะเลกัน วันก่อนก็นั่งแกร็บไปวัดพระใหญ่มา สำหรับตัวผม ประสบการณ์ที่นี่ดีมาก ผู้คนให้การช่วยเหลือผมอย่างดี เจเร็ด (เพื่อนในกลุ่มอีกคนจากประเทศแคนาดา) คอยช่วยแนะนำผมเพราะเขาเคยมาเที่ยวภูเก็ตก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 แล้ว พนักงานที่โรงแรมก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปที่ไหนตามท้องถนน ผู้คนพร้อมจะช่วยเหลือผมตลอด ไม่เคยรู้สึกไม่ได้รับการต้อนรับเลย แล้วนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างพวกเราอยากจะมาเที่ยวประเทศไทย"

สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือการท่องเที่ยวคนเดียวแล้วได้พบเจอเพื่อนใหม่ ในทุกที่ ซึ่งวินเซนต์ก็ได้พบเพื่อนกลุ่มนี้ที่กำลังนั่งรับประทานอาหารด้วยกันและแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกันอย่างสนุกสนาน

"ผมว่าเวลาเที่ยวคนเดียวแล้วพักในโฮสเทล คุณจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะจะได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ ตลอดทาง"

ในวันรุ่งขึ้นหลังออกจากโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์วินเซนต์ก็มุ่งหน้าเดินทางต่อไปเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่และวางแผนที่จะกลับมาเที่ยวภูเก็ตต่อหลังจากนั้น

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, Thiti Foster

น้ำมันหล่อลื่นกลไกเศรษฐกิจ

เชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความรู้สึกต่อโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาว่า ช่วยให้เศรษฐกิจภูเก็ต "ขยับตัวได้" จากที่เป็น "อัมพาต" แม้ไม่มากเท่ากับสมัยก่อนโควิดระบาดที่มีนักท่องเที่ยวมาปีละ 14 ล้านคน ตัวเลขปัจจุบันที่เดือนละ 1 หมื่นคน อาจไม่ถึง 1% ของอดีต แต่เป็น 1% ที่เป็นเหมือน "น้ำมันหล่อลื่น" ที่มาทำให้เราเริ่มขยับได้

"ที่เราเห็นได้คือน้ำมันหล่อลื่นนี้ไปตกตรงไหน ก็เริ่มฟื้นตัวกันเป็นหย่อมๆ เมื่อหย่อมนี้ฟื้นแล้ว ก็จะทำให้ห่วงโซ่ถัดไปฟื้นขึ้นได้ ดังนั้น ถึงเราจะเป็น แซนด์บ็อกซ์ที่คนเข้ามาไม่มากแต่ว่าก็ทำให้กลไกขับเคลื่อนต่อได้"

และแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เข้ามายังเกาะภูเก็ตจะไม่เป็นไปตามเป้าที่คณะทำงานก่อตั้ง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ตั้งความหวังไว้แต่แรก แต่เชิญพรก็เข้าใจว่ายังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคและไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้มากนัก อย่างเที่ยวบินจากหลายประเทศทั่วโลกที่ยังไม่เปิดเส้นทาง โดยเฉพาะประเทศเป้าหมายอย่างประเทศจีนที่ยังไม่เปิดประเทศ ขณะที่ประเทศรัสเซียที่เป็นตลาดหลักอีกประเทศหนึ่งนั้นก็เพิ่งเริ่มเปิดเที่ยวบินได้ไม่นาน

"ตอนนี้มีนักท่องเที่ยว แซนด์บ็อกซ์ประมาณ 40,000 - 50,000 คน จริงๆ ตอนที่เราคิด แซนด์บ็อกซ์เราคาดหวังมากกว่านี้ แต่เราก็เข้าใจได้ว่า มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง สายการบินก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่เข้าเป้า"

นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

"รัสเซียที่เป็นตลาดหลักเรา เพิ่งเริ่ม (เปิดสายการบิน) เมื่อตุลาคมนี้ ซึ่งก็บินมาแค่สัปดาห์ละไฟลท์ แล้วก็ไม่ได้บินตรงจากมอสโค แต่บินมาจากคาซัคสถาน ซึ่งเราก็ยังไม่ได้ถึงจุดที่เราต้องการ แล้วการเริ่มตารางบินของสายการบินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าเขาจะจัดเครื่องได้ กว่าจะลงตารางบิน ก็ใช้เวลา"

เธออธิบายว่า ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา โครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำรายได้สะพัดในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามเป้าแต่ก็ได้กระจายลงสู่ผู้ประกอบการรายเล็กใหญ่อย่างทั่วถึง

"เรื่องการกระจายรายได้ ก็น่าจะถ้วนหน้า โรงแรมเล็กๆ ในเมืองที่มีแค่ 10-12 ห้องเขาก็ได้นะ เพราะกลุ่มที่เขาชอบในเมือง หรือกลุ่มที่มีงบประมาณจำกัด เขาก็มานอนในเมือง ตั้งแต่เกสเฮาส์ 2 ดาวไปจนถึงโรงแรม 5-6 ดาว ก็มีลูกค้าทุกกลุ่ม ก็ได้กันถ้วนหน้าค่ะ"

วันเปิดประเทศ ตัวเลขโควิด-19 และการรับมือ

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวถึงช่วงที่สถานการณ์ได้คลี่คลายลงขณะที่ภูเก็ตเองก็ปลดล็อกมาตรการต่างๆ ให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้มากขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงมาอยู่ราว "110 - 120" คน จากเดิมที่ 250 ขึ้นไป

นพ.กู้ศักดิ์ เล่าว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อนั้น มีเพียง 0.3% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือ อยู่ที่ 171 คนจากตัวเลขล่าสุด 53,120 คน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด

เมื่อถามถึงแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อหลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นพ.กู้ศักดิ์ ยอมรับว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าภูเก็ตจะสามารถรับมือได้ หลังผ่านประสบการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 250 คนเฉลี่ยต่อวัน นอกจากนี้ คนในพื้นที่ก็ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมมากกว่า 70% แล้ว ซึ่งทำให้เกิด ภูมิคุ้มกันหมู่

หาดป่าตอง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, หาดป่าตองมีนักท่องเที่ยวบางตาช่วงโควิด

"ถามว่าเปิดเมืองแล้วตัวเลขจะเพิ่มไหม เพิ่มแน่นอน เพราะว่านักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศที่จะเข้ามา ภูเก็ตก็เป็นเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะมีนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเจอแน่ ทั้งไทยทั้งเทศ"

"ตอนนี้เรามีคนไข้ที่อยู่ในการดูแลของแพทย์ 1,969 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 22 ต.ค.) แต่ช่วงที่พีค ช่วงนั้นมีคนไข้ 4,500 คน ถามว่าเปิดเมืองแล้วตัวเลขจะเพิ่มไหม เพิ่ม แต่หนึ่งคือคนได้รับวัคซีนกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนภูเก็ตเราเนี่ยบูสเตอร์ก็ได้รับแล้ว แล้วครอบคลุมก็เกิน 70%"

นายแพทย์สาธารณสุข เชื่อว่านอกจากวัคซีนจะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการหนักแล้วยังช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ไปในทางที่ดีด้วย เนื่องจากเชื่อมั่นในความปลอดภัยของตนเองมากขึ้น

"พอคนฉีดวัคซีนมากขึ้นบางที มายด์เซ็ตคนก็อาจจะเปลี่ยนไป อย่างเมื่อก่อน พอรู้ว่าติดเชื้อไม่มีอาการ ก็ต้องมานอนโรงพยาบาล ก็ทำให้โหลดงาน จำนวนเตียงในโรงพยาบาลก็เกินอัตรากำลังที่จะรับ แต่ถ้าฉีดวัคซีน อาการน้อยก็ดูแลที่บ้านได้"

นอกจากนี้ นพ.กู้ศักดิ์ ยังอธิบายว่าจริงๆ แล้วผู้คนไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจกับจำนวนผู้ติดเชื้อมากนัก แต่ควรมองที่ผู้ติดเชื้ออาการหนัก เพราะมีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างครอบคลุมมากแล้ว และอีกไม่นานอาจจะมียารักษาเข้ามาซึ่งอาจทำให้โรคโควิด-19 เป็นเพียงไข้หวัดชนิดหนึ่งเท่านั้น

"จริงๆ ตอนนี้ควรจะมาดูจำนวนผู้ป่วยอาการหนักมากกว่า... กลุ่มนี้ก็ต้องเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว ต่อไปคงมียา และต่อไปก็คงถูกปราบด้วยยาด้วย ยาเดิมก็มีอยู่ และตอนนี้ก็มีข่าวออกมาว่ามียาที่กำลังศึกษาวิจัยให้ดีกว่าเดิม ต่อไปถ้ามีฉีดวัคซีนครบ มียาออกมาก็จะเหมือนไข้หวัดธรรมดาแล้ว"