แมวน้ำช้างนอนหลับแบบ “บันไดวน” งีบได้ขณะดำดิ่งลงทะเลลึก

ฝูงแมวน้ำช้างพากันนอนหลับบนชายหาด ที่อุทยานแห่งรัฐ Año Nuevo ของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ที่มาของภาพ, J. KENDALL-BAR

คำบรรยายภาพ, ฝูงแมวน้ำช้างพากันนอนหลับบนชายหาด ที่อุทยานแห่งรัฐ Año Nuevo ของรัฐแคลิฟอร์เนีย

แมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือ (northern elephant seal) จัดว่าเป็นสัตว์ที่มีความสามารถขั้นเทพชนิดหนึ่ง โดยพวกมันทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันได้ในเวลาเดียว แม้แต่การนอนหลับสนิทขณะดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลลึกไปด้วย เพื่อหลบหลีกระวังภัยจากสัตว์ผู้ล่า

รายงานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ระบุว่า มีการติดตามพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือ ตลอดฤดูกาลออกล่าหาอาหารในทะเลหลวง 7-8 เดือน ด้วยวิธีติดตั้งอุปกรณ์สแกนสมองที่คล้ายหมวกสวมหัวให้กับแมวน้ำช้างจำนวนหนึ่ง

การทดลองนี้มีขึ้นเพื่อตอบคำถามที่ว่า พวกมันนอนหลับกันอย่างไรเมื่อต้องอยู่ห่างจากฝั่งเป็นเวลานาน จนไม่อาจนอนหลับพักผ่อนบนชายหาดวันละหลายชั่วโมงตามปกติได้

ผลปรากฏว่าแมวน้ำช้างสายพันธุ์นี้ สามารถงีบหลับเป็นช่วง ๆ ระหว่างที่กลั้นหายใจดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลลึก โดยมันจะหมุนตัวเป็นรอบวงกลมที่ทิ้งดิ่งลงไปเรื่อย ๆ คล้ายกับการควงสว่านหรือการเดินลงบันไดวนนั่นเอง ซึ่งการนอนหลับพร้อมกับดำน้ำลึกแบบพิสดารนี้จะเกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่ห้วงนิทราช่วงที่มีการกลอกตาไปมาอย่างรวดเร็วหรือ REM sleep

ดร. เทอร์รี วิลเลียมส์ นักนิเวศสรีรวิทยา (ecophysiologist) หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ (UCSC) ของสหรัฐฯ อธิบายถึงวิธีงีบหลับของแมวน้ำช้างขณะออกล่าในทะเลหลวงว่า

“ลองจินตนาการถึงตอนที่คุณตื่นขึ้นหลังจากนอนกรน แล้วพบว่าตัวเองอยู่ที่ก้นสระว่ายน้ำ คุณก็เลยต้องรีบตะเกียกตะกายว่ายขึ้นมา ก่อนที่จะหมดลมหายใจและจมน้ำตาย”

ภาพจำลองวิธีหลับขณะดำดิ่งในรูปแบบบันไดวนของแมวน้ำช้าง

ที่มาของภาพ, J. KENDALL-BAR

คำบรรยายภาพ, ภาพจำลองวิธีหลับขณะดำดิ่งในรูปแบบบันไดวนของแมวน้ำช้าง

“ฟังดูเหลือเชื่อมาก แต่แมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือทำแบบนี้เป็นประจำทุกวันในฤดูกาลออกล่า โดยพวกมันจะหลับลึกนาน 10 นาที ต่อการดำดิ่งแบบบันไดวนครั้งละ 30 นาที ทำให้พวกมันได้นอนหลับพักผ่อนรวมทั้งสิ้นวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งต่างจากการนอนหลับบนชายหาดในฤดูผสมพันธุ์ ที่จะกินเวลานานถึงวันละ 10 ชั่วโมง”

ดร. เจสสิกา เคนดัลล์-บาร์ ผู้นำทีมวิจัยจากสถาบันสคริปส์เพื่อการศึกษาด้านสมุทรศาสตร์ บอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาแบบแผนการนอนหลับในธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล โดยใช้อุปกรณ์สวมหัวที่มีเซนเซอร์คอยตรวจจับกระแสประสาท แบบเดียวกับเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ที่ใช้ในคลินิกรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์แบบแผนการหลับของแมวน้ำช้าง โดยใช้อัลกอริทึมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

รูปแมวน้ำตัวเดียว

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร. เคนดัลล์-บาร์ ยังบอกว่า แมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือใช้การนอนหลับแบบดำดิ่งคล้ายลงบันไดวน เพื่อหลบหลีกสัตว์ผู้ล่าอย่างฉลามหรือวาฬเพชฌฆาตอีกด้วย โดยในบางครั้งจะทิ้งตัวจนลงไปแตะพื้นก้นทะเล ก่อนจะว่ายขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ 1-2 นาที หลังการดำดิ่งรอบละ 30 นาทีสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่าการนอนหลับเพียงวันละ 2 ชั่วโมง ในฤดูกาลออกล่าของแมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือ ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพร่างกายของพวกมันบ้างหรือไม่ ซึ่งทีมผู้วิจัยจะได้ติดตามศึกษาประเด็นนี้ต่อไป เมื่อแมวน้ำช้างที่สวมอุปกรณ์สแกนสมองกลับมายังชายหาดที่อยู่ของพวกมันในฤดูผสมพันธุ์