โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เภสัชฯ ม.มหิดล แนะเลือกใช้ "เจลแอลกอฮอล์"

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 17 เม.ย. 2563 เวลา 07.58 น. • เผยแพร่ 17 เม.ย. 2563 เวลา 07.55 น.

วันที่ 17 เม.ย.2563 -รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.มนตรี จาตุรันต์ภิญโญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีศักยภาพและความพร้อมในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ ส่วนหนึ่งจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปผ่าน สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนหรือร้านยาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผลิตเพื่อสนับสนุนหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านข่าว : นักวิทย์ฯวอนภาครัฐเข้มงวด"รอดโควิด"แต่เสี่ยงเป็นมะเร็งเพราะแอลกอฮอล์เกรดต่ำ

รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่มีการร้องขอเมื่อมีความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว การผลิตเจลแอลกอฮอล์ของคณะฯ ถูกต้องตามกฎหมาย มีการจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง ในอนาคตมีโครงการที่จะขยายกำลังผลิตโดยโรงงานยาแห่งใหม่ที่ได้จัดตั้งขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อโรงงานเสร็จสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเพิ่มกำลังการผลิตได้จำนวนมาก กระจายสินค้าและรองรับหน่วยงานต่าง ๆ ได้มากเช่นเดียวกัน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ทั้งหมด 3 แบบ คือ 1. แบบไม่ใส่สีใส่กลิ่น 2. กลิ่นแอบเปิ้ล และ 3. กลิ่นมารีนเฟรซ เจลแอลกอฮอล์จัดอยู่ในกลุ่มของเครื่องสำอาง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อกำหนด คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพื่อใช้สำหรับสุขอนามัยสำหรับมือ จะต้องมีเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 70% v/v

ดังนั้น หากประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ควรต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลขที่จดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แอลกอฮอล์ที่ใช้ในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้แก่ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งจะระเหยได้ และไม่ทิ้งการตกค้างที่มือ

เพราะฉะนั้น ในการใช้ผลิตภัณฑ์เมื่อตัวแอลกอฮอล์ระเหย สามารถที่จะหยิบจับอาหารได้ และมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์อีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค รวมถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ ส่วนแอลกอฮอล์ที่มีข้อห้าม คือ เมทิลแอลกอฮอล์ ไม่สามารถนำมาผลิตเป็นเจลแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงต่อผู้ใช้ได้ สำหรับประชาชนที่ใช้ผลิตภัณฑ์
เจลแอลกอฮอล์ ควรสังเกตตนเองว่ามีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์หรือไม่ บางท่านแพ้แอลกอฮอล์ หรือแพ้น้ำหอมที่เป็นส่วนผสมลงไป

ดังนั้น ควรเลือกชนิดของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเอง อย่างไรก็ตามทางเลือกที่ดีและง่ายที่สุด คือ การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง จึงเป็นทางเลือกทั่วไปที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้สบู่สามารถทำลายไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม (enveloped virus) ได้ โดยคาดว่ากลไกเกิดจากโมเลกุลของสบู่จะมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำและที่ไม่ชอบน้ำ ส่วนที่ไม่ชอบน้ำนี้จะไปจับกับไขมันที่เป็น องค์ประกอบในเปลือกหุ้มของไวรัส ทำให้ส่วนของไขมันนี้เกิดแยกตัวออกส่งผลให้เปลือกของไวรัสถูกทำลาย และท้ายสุดไวรัสก็จะถูกทำลายไป

นอกจากนี้สบู่ยังอาจมีผลต่อการลดการจับกับพื้นผิวต่างๆ ของเชื้อได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามในระหว่างวันหากหาสบู่และน้ำไม่ได้ แนะนำให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยสังเกตข้อความบนฉลากต้องระบุชนิดและเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ที่ใช้ ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก โดยทั่วไปเจลแอลกอฮอล์จะมีอายุการใช้งาน 2 ปี ควรเก็บให้ถูกวิธีในบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติไม่ให้โดนแสงแดด เมื่อเปิดใช้แอลกอฮอล์แล้ว ควรใช้ภายใน 1 เดือน เพราะแอลกอฮอล์มีโอกาสระเหยทำให้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดต่ำลง ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮล์ใกล้เปลวไฟหรือสิ่งของที่มีประกายไฟ เพราะอาจจะทำให้ติดไฟหรือเป็นอันตรายได้ และที่สำคัญไม่แนะนำให้ประชาชนผลิตใช้ด้วยตนเอง ประชาชนอาจเกิดความสับสนเกี่ยวกับการคำนวณสูตร ต้องคำนวณสูตรให้ได้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตามมาตรฐานเพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ที่ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งการเลือกใช้ชนิดของแอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรซื้อจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ในรูปแบบอื่นๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จึงไม่จำเป็นต้องใช้เจลแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว สามารถใช้แอลกอฮอล์แบบน้ำ หรือสเปรย์ แต่อาจต้องระวังเรื่องผิวแห้งจากการสูญเสียน้ำ

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การใช้เจลแอลกอฮอล์ใช้เพื่อทำความสะอาดผิวจากการสัมผัส ไม่ได้ใช้เพื่อบำรุงผิวแบบโลชั่น จึงไม่ควรใช้ทาผิวตลอดเวลา การใช้ไม่ถูกวิธีนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ อาจทำให้มือแห้งและเกิดผิวหนังอักเสบตามมาได้ ในการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ซึ่งเป็นการล้างมือแบบแห้ง จึงควรให้มีปริมาณของผลิตภัณฑ์มากเพียงพอ ที่จะทำให้การถูผลิตภัณฑ์ทั่วทั้งบริเวณมือ ผ่ามือ หลังมือ หัวแม่มือ และข้อมือ เทียบได้กับวิธีการล้างมือด้วยสบู่และน้ำที่ถูกต้อง ที่สำคัญต้องทิ้งเวลาให้เกิดการสัมผัสที่นานพอประมาณ 15-20 วินาที่ หรือหลักง่ายๆ คือทิ้งให้ผลิตภัณฑ์บนมือแห้งก่อน และจำไว้ว่าเมื่อนำมือที่ผ่านการทำความสะอาดมาแล้วไปสัมผัสสิ่งใด ก็มีโอกาสที่จะไปปนเปื้อนเชื้อโรคได้อีก

ดังนั้นต้องควบคุมตัวเอง ไม่ควรเอามือที่ไปสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง การใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แท้จริงแล้วอยู่ที่การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันที่ถูกสุขลักษณะของตนแองเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า นอกจาก การผลิตเจลแอลกอฮอล์แล้ว ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลยังให้บริการตรวจประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์

ตามข้อกำหนดตามมาตรฐานสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรฐานสารเคมีฆ่าเชื้อบนพื้นผิวและภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตโดยมีการปรับบางรายละเอียดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทยซึ่งเหมาะสำหรับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อดูว่าสูตรแอลกอฮอล์ที่ใช้สามารถทำลายเชื้อได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการส่งตรวจได้ที่ โทร. 096 812 3281 email: capq-micro@hotmail.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0