สังคมญี่ปุ่นกำลังทรุดหนัก! “ฮิคิโคโมริ” คนเก็บตัว-หนีสังคมในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกิน 10 ล้านราย

รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า ปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) ในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้นถึง 1.15 ล้านคน 

  • ปี 2015 ผลสำรวจพบว่าคนญี่ปุ่นอายุระหว่าง 15-39 ปี เป็นฮิคิโคโมริมากถึง 541,000 คน
  • ขณะที่ปีล่าสุดพบว่าคนอายุ 40-64 ปี เป็นฮิคิโคโมริมากถึง 631,000 ราย รวมทั้งหมดกว่า 1 ล้านรายที่มีอาการนี้ 

ขณะที่ Sato Tamaki ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Tsukuba ผู้ศึกษาปรากฎการณ์ฮิคิโคโมริมานานหลาย 10 ปี เปิดเผยว่า สถานการณ์ฮิคิโคโมริในญี่ปุ่นตอนนี้มีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเกิน 10 ล้านราย 

ภาพจาก Shutterstock

Sato Hamaki ศึกษาปรากฏการณ์ “ฮิคิโคโมริ” และทำให้ผู้คนสนใจประเด็นนี้ผ่านหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1998 เรื่อง Social Withdrawal: Puberty Without End 

ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) ไม่ใช่โรค แต่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่คนแยกตัวจากสังคม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ฮิคิโคโมรินี้เป็นคนละกรณีกับกลุ่มคนไร้บ้าน (Homeless) เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีบ้านอยู่ มีอาหารให้กิน แต่แยกตัวออกจากสังคม 

บ้างก็มองว่า คนที่แยกตัวออกจากสังคมมีพฤติกรรมที่สามารถก่ออาชญากรรมได้ แต่ Sato มองว่าเป็นคนละกรณีกันและมีส่วนเชื่อมโยงกันน้อยมาก 

ปรากฎการณ์ฮิคิโคมาริ คือคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง ออกห่างจากสังคมเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น และพวกเขาก็มีส่วนเกี่ยวพันในการก่ออาชญากรรมน้อยมาก ฮิคิโคมารินี้เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการออกจากงาน การไม่มีงานทำ การที่ผู้คนมีปัญหาหลังลาออกจากงานแล้วไม่สามารถกลับสู่ภาวะการทำงานได้ ไปจนถึงการถูกบังคับให้ออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุแล้ว แล้วกลับมาทำงานเหมือนเดิมไม่ได้อีก

การที่สังคมขาดความเคารพซึ่งกันและกันและมองว่าบุคคลนั้นๆ ไร้ประโยชน์ต่อสังคม ต่อครอบครัว การถูกกลั่นแกล้ง การถูกทำให้เกิดความอับอายจนเกิดความเครียด ตลอดจนความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฮิคิโคโมริ 

ภาพจาก Pixabay

Sato อธิบายถึงกลไกทั้งหลายเหล่านี้นำไปสู่ปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริ โดยผู้ที่ถอนตัวออกจากสังคม ก็จะรู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีความหมาย ไร้คุณค่า รู้สึกโศกตรมกับชีวิตของตัวเอง พวกนี้จะเริ่มต้นโทษพ่อแม่ตัวเองก่อน 

ปรากฏการณ์ฮิคิโคโมรินี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นที่เดียวแต่ยังเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ด้วย ซึ่งก็มีฮิคิโคโมริมากมายถึง 300,000 ราย ฮิคิโคโมริเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในสังคมมาตั้งแต่ 1980 แล้ว 

กิจกรรมที่ฮิคิโคโมริตอบสนองเมื่อเทียบกับคนที่ไม่แยกตัวออกจากสังคม มีดังนี้

  • ดูทีวีน้อยกว่าคนที่ไม่ได้แยกตัวออกจากสังคม 84% ต่อ 92%
  • ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า 30% ต่อ 43%
  • อ่านหนังสือในอัตราเท่าๆ กับคนที่ไม่แยกตัวออกจากสังคม 26% ต่อ 27%
  • อ่านหนังสือพิมพ์น้อยกว่าคนที่ไม่แยกตัวออกจากสังคม 19% ต่อ 27%
  • ทำงานบ้านน้อยกว่าคนที่ไม่แยกตัวออกจากสังคมสูงมาก 19% ต่อ 59%
  • เล่นเกมน้อยกว่าเล็กน้อย 14% ต่อ 19%
  • ฟังเพลงมากกว่าคนที่ไม่แยกตัวออกจากสังคม 13% ต่อ 8%
Japan ภาพจาก Pixabay

ทางออกของปัญหา ทางออกจากปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริ

สิ่งที่ครอบครัวควรจะทำ เมื่อปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริเกิดขึ้น Sato เล่าถึงกรณีของชายหนุ่มวัย 21 ปีที่ถอนตัวเองออกจากสังคมเป็นเวลายาวนานถึง 5 ปี หลังจากที่ครอบครัวได้เข้ารับการปรึกษาขอคำแนะนำ พวกเขาก็หยุดที่จะเข้าไปแทรกแซงปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริ พ่อแม่หยุดให้คำพูดปลอบประโลมให้กำลังใจ แต่ปล่อยให้สถานการณ์ค่อยๆพัฒนาขึ้นผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัว 

4 เดือนต่อมา พวกเขาไปพบหมออีกครั้งและเริ่มให้ความใส่ใจกับการดูแลฮิคิโคโมริมากขึ้น เช่น เป็นมิตรกับคนที่เป็นคอเกมคนอื่นๆ เพิ่ม จากนั้น 2 ปีต่อมา เริ่มกลับเข้ารับการศึกษาในระดับไฮสคูลและกลับเข้าสู่สังคมห้องเรียน จากนั้นเขาก็มีสภาพจิตใจที่มั่นคงมากขึ้น 

บางคนมองว่า ฮิคิโคโมริคือคนหนุ่มสาวที่ขี้เกียจ มีปัญหาด้านบุคลิกภาพ อยู่ในห้องตัวเองตลอดเวลาและติดเกม แต่ในความเป็นจริง พวกเขากลับเข้าสู่สังคมไม่ได้ต่างหาก 

ภาพจาก Shutterstock

Sato ให้ข้อเสนอว่าเมื่อเกิดปรากฎการณ์ฮิคิโคโมริ สมาชิกในครอบครัวที่เป็นพื้นฐานแรกที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบมากสุด ต้องเข้ารับการปรึกษาหารือกับแพทย์เพื่อหาทางช่วยเหลือ ฮิคิโคโมริจะกลายเป็นปัญหาหนักในสังคม หากพ่อแม่ของเด็กเสียชีวิตไปก่อน เด็กจะอยู่รอดในสังคมได้ลำบาก

นอกจากนี้ สังคมสูงวัยก็มีส่วนเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริ ปัญหาทางการเงินจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีพ่อแม่ให้พึ่งพาแล้ว หรือหลังจากพ่อแม่เสียชีวิตแล้วก็เป็นสาเหตุสำคัญ 

Sato ย้ำว่า พ่อแม่ต้องไม่รู้สึกกลัวหรือเขินอายหากจะต้องหาทางของความช่วยเหลือ หาทางขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้มีนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหานี้ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น

ที่มา – Nippon (1), (2), Japan Times, The Economist 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา