ไม่พบผลการค้นหา
จับตาโควิดสายพันธุ์ 'เดลต้าพลัส' สธ.เผยไทยพบแล้ว 1 ราย อยู่ในขั้นเฝ้าระวัง ยังไม่ต้องกังวล ขณะ 'รศ.นพ.ธีระ' เผยเชื้อแพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดลต้าเดิม 17%

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีสายพันธุ์ AY.4.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลต้า โดยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา จำนวนการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ในประเทศอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น เป็นรองเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่เดียว และพบสายพันธุ์นี้ประมาณ 6% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวมของประเทศอังกฤษ ซึ่งเดลต้าเดิมยังเป็นสายพันธุ์หลัก

แต่สายพันธุ์ย่อยนี้อยู่ในช่วงจับตามอง แต่ยังไม่ต้องมีความกังวลว่าจะรุนแรงกว่าปกติ หรือมีโอกาสดื้อยา ดื้อวัคซีนหรือไม่ อยู่ระหว่างจับตามองและหารายละเอียด หากเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้าที่ผ่านมา ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วชัดเจน จะเห็นลูกคลื่นการระบาดที่เร็วและแรงมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศก็มองว่าเป็นการให้ความสำคัญของประเทศอังกฤษในการจับตามอง ขณะที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้มีการยกระดับ

"สำหรับประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์และสายพันธุ์ย่อยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเมื่อตรวจสอบดูพบรายงานของเดลต้าพลัสเพียง 1 ราย และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง" นพ.เฉวตสรร ระบุ

x0k83f9sd3kc8kokk.jpeg
  • นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน

เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2” สหราชอาณาจักรมีการติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นเร็วจนได้รับการยกระดับเป็น variant under investigation ที่ติดกันตอนนี้มีทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจเป็นเพราะยังได้รับวัคซีนกันไม่มากนัก


แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดลต้าเดิม 17%

ความรู้ที่มีตอนนี้เกี่ยวกับเดลต้าพลัส (AY.4.2) กลายพันธุ์ต่อยอดจากสายพันธุ์เดลต้า การป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิต พอๆ กับเดลต้า (B.1.617.2) แต่แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดลต้าเดิม 17% อัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากขึ้นกว่าเดิม 12% (ช่วงความเชื่อมั่น 8-16%) ทั้งนี้เราทราบกันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า เดิมอัตราการแพร่ให้คนที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เฉลี่ยประมาณ 18-20%

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วของสหราชอาณาจักรนั้น คาดว่าไม่น่าจะอธิบายจากความสามารถในการแพร่ของเดลต้าพลัสแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นจากการใช้ชีวิตประจำวันของประชากร ที่อาจไม่ได้ป้องกันตัวเคร่งครัด และมีการเปิดกิจการกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ ทำให้ไวรัสซึ่งมีสมรรถนะแพร่ได้ดีกว่าเดิมระดับหนึ่ง ไปอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ซึ่งมีทั้งเรื่องคนจำนวนมาก แออัด ใกล้ชิด ระยะเวลาอยู่ด้วยกันนาน ก็จะทำให้เกิดติดเชื้อจำนวนมากอย่างที่เห็นในปัจจุบันได้


แนะระมัดระวัง หลังเปิดประเทศ

รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า ดังนั้น คนไทยเราจึงควรระมัดระวัง หลังเปิดประเทศ กิจการกิจกรรมต่างๆ จะมากขึ้น ครบปัจจัยเสี่ยง number, frequency, closeness, duration ที่จะทำให้เชื้อเดลต้าเดิมในประเทศปะทุลามมากขึ้น และหากมีสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างเดลต้าพลัสหรืออื่นๆ เข้ามา ก็จะดำเนินรอยตามการระบาดหนักขึ้นของต่างประเทศได้ “ใส่หน้ากากนะครับ…สำคัญมาก อยู่ห่างคนอื่นเกิน 1 เมตร ลดอัตราติดเชื้อได้ 5 เท่า ด้วยรักและห่วงใย”…